Motherhood

วิธีการรับมือเมื่อลูกน้อยไม่ยอมกินข้าว

วันนี้ขอมาให้กำลังใจคุณแม่ที่มีน้องทานข้าวยากค่ะ พอดีมีคุณแม่ inbox มาปรึกษาเรื่องนี้หลายท่านเหมือนกัน เรียกได้ว่าเป็นปัญหาคลาสสิค Top Hit ติดชาร์ต ถึงแม้ตัวหวานเองกับพีต้ายังไม่เคยเจอจังๆกับอาการไม่ยอมทานข้าว (อาจจะเป็นเพราะยังไม่ถึงเวลา) แต่มันก็พอจะเข้าใจความรู้สึก เพราะถึงแม้พีต้าจะทานเก่ง แต่ช่วงนี้น้ำหนักขึ้นน้อย ทั้งๆที่น้ำหนักก็ตามเกณฑ์ แม่ยังนอยด์เลย รู้ว่าไม่เป็นไร แต่เรื่องจิตใจมันห้ามยาก อ่ะโน๊ะ!! เลยพยายามบอกตัวเองว่าต้องมีสติ หนทางเลี้ยงลูกยังอีกยาวไกล ปัญหาที่ต้องเจอยังมีอีกมากมาย อย่าไปนอยด์มั่วซั่ว นอยด์ทุกเรื่องเป็นบ้าก่อนลูกโตแน่ๆ ว่าแล้วก็เลยหาข้อมูลมาซับพอร์ทกำลังใจตัวเองและเผื่อแม่แม่ท่านอื่นด้วยเลยดีกว่า 🙂 
..จากการศึกษาในประเทศไทยพบว่าเด็ก อายุ1-3 ปี มีปัญหาการกินประมาณ 35% ส่วนวัย 3 – 5 ปี มีถึง 40% ซึ่งสอดคล้องกับการศึกษาในต่างประเทศที่พบว่าปัญหาการกินของเด็กช่วงอายุ 4 ปี อยู่ที่ประมาณ 40% —-จากสถิติที่เห็นคุณแม่คนไหนลูกไม่ยอมกินข้าวสบายใจไปได้ 1 เปาะว่า ใครๆเค้าก็เป็นกัน!!!!

• ทำไมลูกน้อยไม่ยอมกินข้าว •

สาเหตุหลักของการที่ลูกไม่กินข้าวนั้น เริ่มต้นจาก “ความวิตกกังวลมากเกินไปของผู้ปกครองว่าลูกอาจได้รับสารอาหารไม่เพียงพอ” ซึ่งความวิตกกังวลนี้เกิดจาก “ความไม่รู้หรือเข้าใจผิด” เป็นเหตุสำคัญ อันนำมาสู่การแก้ไขที่ผิดๆ ส่งผลให้ปัญหารุนแรงยิ่งขึ้น
1. เข้าใจผิดว่าเด็กอ้วนเป็นเด็กแข็งแรง พ่อแม่จำนวนมากมีค่านิยมที่ผิด มองว่าเด็กอ้วน (จนเกินเกณฑ์น้ำหนักปกติ) เป็นเด็กแข็งแรง และน่ารัก ทำให้มองเด็กที่น้ำหนักปกติว่าเป็นเด็กผอมเกินไปและพยายามยัดเยียดเรื่องกินมากขึ้น

2. เข้าใจผิดว่าลูกน้ำหนักน้อยเกินไป ทั้งๆ ที่น้ำหนักอยู่ในเกณฑ์ปกติ เพราะไปเปรียบเทียบกับเด็กคนอื่นในชั้นเดียวกันที่มีน้ำหนักเกิน ซึ่งในปัจจุบันมีเด็กอ้วนในบ้านเราอยู่ถึงร้อยละ 15 – 20

3. ไม่รู้ว่าเด็กหลังอายุ 1 ขวบ จะสนใจการกินน้อยลง ธรรมชาติเด็กอายุขวบปีแรกจะกินเก่งเพราะเป็นช่วงที่เติบโตเร็ว เด็กจะมีน้ำหนักเพิ่มถึง 3 เท่าตัว จึงมีความต้องการสารอาหารมากตามธรรมชาติและหิวบ่อย กินเก่ง แต่เมื่ออายุ 1 ปี จนถึง 10 ปี จะมีน้ำหนักขึ้นเฉลี่ยปีละ 2 กิโลกรัมเท่านั้น ร่างกายต้องการสารอาหารน้อยลงเมื่อเทียบกับปีแรกเด็กจึงมีความกระตือรือร้นเรื่องกินลดลง

4. ไม่รู้ว่าจริงๆแล้วลูกควรกินอาหารปริมาณเท่าใดในแต่ละวัน และเป็นเรื่องปกติที่เด็กอาจกินน้อยเป็นบางมื้อหรือบางวันที่สำคัญคือความต้องการปริมาณอาหารของเด็กแต่ละคนไม่เท่ากันซึ่งทั้งหมดขึ้นกับอัตราการใช้พลังงาน การย่อย การดูดซึม อัตราการเผาผลาญของร่างกายของเด็กแต่ละคน

และเมื่อเกิดความกังวลว่าลูกได้สารอาหารน้อยเกินไป พ่อแม่จะพยายามหาวิธีแก้ไข ซึ่งส่วนใหญ่มักใช้วิธีที่ผิดคือ ใช้การดุว่า บังคับ ลงโทษ ใช้การให้รางวัลหรือหลอกล่อให้เพลิดเพลิน จะเห็นได้ว่าการพยายามแก้ปัญหาโดยวิธีที่ไม่ถูกต้อง ทำให้เด็กมีทัศนคติในแง่ลบต่อการกินและไม่รู้สึกหิวเมื่อถึงมื้ออาหาร โดยธรรมชาติแล้ว เด็กไม่ควรมีปัญหากินยากหรือปฏิเสธการกิน เพราะร่างกายเด็กทุกคนต้องการสารอาหารเพื่อใช้สร้างพลังงานและเจริญเติบโตในแต่ละวัน โดยร่างกายจะมีกลไกกระตุ้นให้เด็กกระตือรือร้นที่จะกินอาหารคือ เมื่อร่างกายต้องการอาหารเพิ่มเติม ระดับน้ำตาลในเลือดจะลดต่ำลง สัญญาณนี้จะกระตุ้นไปยัง “ศูนย์ควบคุมความหิว-อิ่ม” ที่อยู่ในสมอง ซึ่งจะกระตุ้นให้เด็กรู้สึก “หิว” นั่นเอง

• แล้วจะแก้ปัญหาอย่างไรดี •

1. ตั้งสติ!! เช็คตามกราฟน้ำหนักและส่วนสูง ถ้าอยู่ในช่วงปกติ ให้รู้ไว้เถิดว่าอย่านอยด์ มันโอเคแล้ว (นี่ตะโกนบอกตัวเองดังๆในใจ) ไม่ต้องสนใจอากงอาม่ายายมียายมา ตาสีตาสาที่มาคอยทักว่าลูกเราตัวเล็ก ฮึบไว้ค่ะ!! คนเป็นแม่ต้องมั่นคงหนักแน่น!!!

2. อย่าบังคับยัดเยียดให้ลูกกิน ไม่กินก้อไม่กิน ชิลๆ

3. กระตุ้นให้หิวก่อนมื้ออาหาร งดขนมนมเนยทุกชนิด พาออกกำลังกายได้ยิ่งดี และควรทานอาหารเป็นเวลา

4. อย่างที่หม่าม๊าเคยบอกไปว่าต้องฝึกให้ลูก “มีสมาธิ” ในการกินอาหาร ไม่มีอุปกรณ์ของเล่นช่วยเสริม นั่งกินอาหารบนเก้าอี้ประจำตำแหน่ง ไม่เดินตามป้อน ไม่ใช้เวลานานเกินไป และให้ลูกมีส่วนร่วมกับการกินมากที่สุด เช่น ช่วยจับช้อน หรือหยิบอาหารเป็นชิ้นๆเข้าปากเอง เลอะเทอะ เละเทะก็ต้องยอม

5. สังเกตชนิดและลักษณะอาหารที่ลูกชอบ จัดไปบ่อยๆ หรือเป็น Fanpage Happy Mommy and Baby Peta เราจะสรรหาเมนูแสนอร่อยมาฝากตัวเล็กอย่างสม่ำเสมอค่า 🙂 อิอิอิ

..สุดท้ายหวานขอยกตัวอย่างเคสใกล้ตัวให้คุณแม่สบายใจแบบเห็นภาพ!! น้องชายหวานสมัยเด็กๆกินยากม๊ากกก!!! อะไรใดใดในโลกก็ไม่เอา กินผักก็ยี้ กินไข่ก็อ้วก แต่ปัจจุบันเติบโตมาด้วยส่วนสูง เกือบ 180 และทุกวันนี้กินทุกอย่างในโลกนี้คร๊าาาาา ใครจาไปเชื่อ!!!

ปรึกษาปัญหาลูกๆแม่ๆได้ที่ www.facebook.com/happymommydiary

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *