Health

การปฏิบัติตัวและยาที่ใช้เมื่อลูกรักเป็นหวัด

ภาค2 มาแล้วค๊าบบบ”การปฏิบัติตัวและยาที่ใช้เมื่อลูกรักเป็นหวัด”

 เมื่อวานนี้เราพูดถึง “การปฏิบัติตัวเพื่อลูกน้อยห่างไกลไข้หวัด” กันไปแล้ว แต่ถึงแม้เราจะเตรียมพร้อมรับมือแค่ไหน สุดท้ายลูกก็ดันติดหวัดซะได้ ก็ไม่ต้องกังวลใจไปนะคะ วันนี้เรามาทำความรู้จักกับไข้หวัดและยาที่ใช้รักษากันเลย 🙂

..ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจก่อนว่าเชื้อโรคที่เป็นตัวการทำให้เกิดไข้หวัดนั้นคือ “เชื้อไวรัส” ซึ่งมีอยู่เป็นร้อยๆสายพันธุ์ พอเราเป็นครั้งนึงร่างกายก็จะสร้างภูมิคุ้มกันสายพันธุ์นั้นๆมา ถ้าเราติดสายพันธุ์เดิมก็จะไม่ป่วยละ แต่!!! มันอีกมีเป็นร้อยสายพันธุ์น่ะสิ ถ้าติดพันธุ์ใหม่ที่ยังไม่เคยเป็น ร่างกายยังไม่มีภูมิ ก็เป็นหวัดใหม่อีก และนี่ก็เป็นอีกเหตุผลว่าทำไมเด็กที่เริ่มเข้าสู่วัยไปโรงเรียนจึงป่วยบ่อยกว่าตอนที่เลี้ยงอยู่บ้าน ก็เพราะว่าเพื่อนร่วมชั้นมีไวรัสหลายสายพันธุ์มาร่วมแชร์กันไปกันมานี่เอง

..เมื่อลูกเป็นหวัด ถ้าเป็นไข้หวัดธรรมดาจากการติดเชื้อไวรัส อาการที่พบเช่น มีไข้ คัดจมูก น้ำมูกไหล เจ็บคอ อาจมีเสมหะหรือไอร่วมด้วย ส่วนใหญ่เป็นอยู่ประมาณ 4-7 วัน ยาที่ใช้รักษาได้แก่
1. ยาลดไข้ ?

– คำว่ามีไข้คือมีอุณหภูมิร่างกายสูงกว่า 37.5•c ในท้องตลาดมีหลายแบบหลายรสชาติให้เลือกสรร ขอให้มีตัวยาสำคัญคือ “พาราเซทตามอล” (จะยี่ห้อไทลินอล ซาร่า ก็พาราเหมือนกันนะค๊า) โดยวิธีการให้ยาลดไข้คือทานยาทุก 4-6 ชั่วโมง *เมื่อหายไข้ให้หยุดยาได้* อีกนิดคือสำหรับเด็กเล็กควรเลือกแบบไร้แอลกอฮอลนะคะ นอกเหนือจากการให้ยาลดไข้แล้วสิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ทำได้คือ ช่วยเช็ดตัวให้ลูก โดยเฉพาะบริเวณข้อพับเพื่อช่วยระบายความร้อน ให้ลูกนอนในบริเวณที่มีอากาศถ่ายเทสะดวก ไม่ใส่เสื้อผ้าที่หนาจนเกินไป และถ้าเป็นไปได้ให้น้องดื่มน้ำมากๆค่ะ

2. ยาแก้ไอ ?

– การไอคือกลไกธรรมชาติที่ร่างกายบอกว่ามีอะไรมารบกวนทางเดินหายใจ **ยาแก้ไอไม่ได้ไปรักษาแต่ทำหน้าที่สั่งไม่ให้ไอ** เพราะฉะนั้นถ้าอยากให้ลูกหายไอควรจะรักษาที่ต้นเหตุดีที่สุด สำหรับเด็กเล็กยังพูดบอกเราไม่ได้ถ้าไอมากๆหวานแนะนำให้ไปหาคุณหมอจะปลอดภัยที่สุดนะคะ

3. ยาขับเสมหะ/ยาละลายเสมหะ ?

– โดยปกติร่างกายจะมีการสร้างมูกอยู่ในทางเดินหายใจอยู่แล้ว แต่พอเวลาที่เราติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ จะมีการหลั่งสารต่างๆออกมามากขึ้นทำให้มูกมีลักษณะเหนียวข้นเป็นเสมหะนั่นเอง สำหรับยาจะแบ่งออกเป็น2กลุ่มดังนี้ ?ยาขับเสมหะ (Expectorants) ออกฤทธิ์เพิ่มความชุ่มชื่นให้มูกทำให้ขับออกมาได้ง่ายขึ้น ?ยาละลายเสมหะ (Mucolytics) ออกฤทธิ์ย่อยเสมหะ ทำให้เหนียวข้นลดลงจะได้ขับออกมาได้ง่ายขึ้น

4. ยาลดน้ำมูก/ยาแก้คัดจมูก ?

– ในเด็กเล็กหวานไม่แนะนำให้ใช้ วิธีที่ดีและปลอดภัยที่สุดคือการ “ล้างจมูก” (เดี๋ยวจะเอาคลิปพีต้าล้างจมูกตอน4เดือนมาให้ดูเป็นตัวอย่างวันหลังนะคะ)

5. ยาฆ่าเชื้อ ?

– ถ้าน้ำมูกใส มีไข้ตัวร้อน ไข้หวัดแบบนี้ “ไม่ต้องทานยาฆ่าเชื้อ” นะคะ เพราะไม่มีประโยชน์ ไม่ได้ช่วยให้อาการลูกหายเร็วขึ้นแต่ทำให้ลูกได้รับยาฆ่าเชื้อโดยไม่จำเป็น อาจทำให้ลูกดื้อยาในอนาคตได้ สำหรับกรณีที่ต้องใช้ยาฆ่าเชื้อคือมีการติดเชื้อแบคทีเรียซ้ำ (อาการดูง่ายๆคือมีเสมหะหรือน้ำมูกเขียว) ที่สำคัญมากอีกอย่างคือถึงแม้อาการต่างๆจะหายแล้วแต่ยาฆ่าเชื้อ ***ต้องกินให้ครบทั้งหมดตามที่แพทย์หรือเภสัชกรสั่ง*** นะคะ

ทั้งนี้เวลาลูกไม่สบายคุณพ่อคุณแม่ ไม่ควรวิตกกังวลจนเกินไป (พูดง่ายแต่ทำยากเนาะ!!) แต่ต้องเฝ้าดูอาการอย่างใกล้ชิด เช่นถ้าได้รับยาลดไข้แล้วแต่ไข้ยังสูงอยู่หรือมีอาการหายใจหอบ หายใจมีเสียงดัง ไม่ร่าเริง ทานอาหารได้น้อยลง เหล่านี้ควรรีบพาไปหาคุณหมอที่โรงพยาบาลนะคะ และที่สำคัญยาทุกตัวต้องปรับขนาดตามน้ำหนักของเด็กนอกจากนี้แล้วรายละเอียดของโรคและอาการก็แตกต่างกันไปในเด็กแต่ละคนเพราะฉะนั้นทุกครั้งที่จะรับประทานยาไม่ว่าตัวไหนควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนจะปลอดภัยที่สุดค่ะ

p.S. ช่วงนี้ไข้หวัดระบาดม๊ากกก บ้านนี้ป่าป๊าเพิ่งหาย อาโก กับอาม่าของพีต้าเป็นต่อ หม่าม๊านี่เครียดเลย ลูกชายชั้นจะรอดดดไม๊เนี้ย แต่ ณ วันนี้ยังโอเคอยู่ ไม่รู้จะให้เครดิตอะไรได้เลยย นอกจากนมแม่เค้าดีจริงๆ คริคริ

#จากใจเภสัชกรแม่ลูกอ่อน

 

Facebook Link:
https://www.facebook.com/happymommydiary/photos/a.438511399683121.1073741844.415734338627494/446069058927355/?type=3&theater

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *