Health

ลูกเราพัฒนาการเป็นไปตามวัยรึเปล่า..

เชื่อว่านี่เป็นคำถามที่คุณพ่อคุณแม่ทุกคนต้องเคยคิดในใจ ทั้งสงสัยและอยากรู้.. บางคนก็ค้นคว้าหาข้อมูล ทั้งในอินเตอร์เนตและอ่านหนังสือ เชื่อถือได้บ้างไม่ได้บ้าง หรือบางคนก็ใช้วิธีเปรียบเทียบกับเด็กคนอื่นๆในวัยเดียวกัน ซึ่งแต่ละบ้านนั้นก็มีการเลี้ยงดูที่แตกต่างกันออกไป สายวิชาการบ้าง สายกิจกรรมบ้าง หรือสายเที่ยววิชาการไม่เน้นอย่างบ้านเราบ้าง  ซึ่งในส่วนของการเปรียบเทียบนั้น มักจะนำมาซึ่งความวิตกกังวลต่างๆอย่างมากมาย ตามสไตล์มนุษย์แม่..

เด็กแต่ละคนพัฒนาการก็แตกต่างกันไป..
เพื่อให้คุณพ่อคุณหมดความกังวลใจ วันนี้หวานมีข้อมูลพัฒนาตามวัย ตั้งแต่แรกเกิดไปจนถึง 6 ขวบ ตามมาตรฐานราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย พ.ศ.2557 มาฝากกันค่า

🔅 1 เดือน 🔅

  • ยกคางจากที่นอนชั่วครู่ในท่านอนคว่ำ
  • มองตามวัตถุได้ถึงกึ่งกลางลำตัว
  • จ้องหน้า
  • ร้องไห้
  • ตอบสนองต่อเสียงที่ได้ยินโดยการกระตุ้นแล้วจะเบิ่งตามอ

🔅 2 เดือน 🔅

  • ชันคอ 45 องศาในท่านอนคว่ำ
  • มองตามวัตถุได้ข้ามผ่านกึ่งกลางลำตัว
  • ยิ้มและสบตา
  • ส่งเสียงในลำคอ เช่น อู อา
  • ตอบสนองต่อเสียงที่ได้ยินโดยการกระพริบตา หรือเงียบเพื่อฟังเสียงที่ได้ยิน

🔅 4 เดือน 🔅

  • ท่านอนคว่ำอกพ้นพื้น พยุงตัวด้วยแขนท่อนล่าง ท่านั่งชันคอได้ดี พลิกคว่ำหรือพลิกหงาย
  • มองตามวัตถุด้านหนึ่งของลำตัวไปหาอีกด้านหนึ่ง (180องศา) ไขว่คว้าหาของใกล้ตัว
  • ตื่นเต้นดีใจเมื่อเห็นนมแม่หรือขวดนม
  • ส่งเสียง อู อา โต้ตอบเมื่อมีคนคุยด้วย หัวเราะ
  • หันหาเสียง

🔅 6 เดือน 🔅

  • ดึงขึ้นนั่งศีรษะไม่ห้อย พลิกคว่ำและพลิกหงาย ท่านอนคว่ำยกอกและท้องส่วนบนพยุงลำตัวด้วยฝ่ามือ นั่งได้โดยใช้มือยันพื้น
  • หยิบของด้วยฝ่ามือ
  • หัวเราะเมื่อถูกเอาผ้าคลุมศีรษะออก เริ่มติดแม่
  • เล่นหรือเลียนเสียง ได้แก่ เลียน เสียงจุ๊ปาก เดาะลิ้น ส่งเสียงเมื่อใช้อวัยวะในปากเพื่อให้เกิดเสียง ปาปา ดาดา

🔅 7-8 เดือน 🔅

  • นั่งทรงตัวโดยไม่ต้องพยุง
  • มองตามของที่ตก เปลี่ยนมือถือของ ใช้มือถือก้อนไปข้างละก้อน
  • สนุกกับการเล่นเอาผ้าคลุมหัวออก
  • ทำเสียงพยัญชนะเดียว เช่น จ๊ะ หม่ำ
  • มองตามสิ่งที่ผู้เลี้ยงดูชี

🔅 9-10 เดือน 🔅

  • ลุกนั่งจากท่านอน คลาน เหนี่ยวตัวขึ้นยืน เกาะยืน
  • ใช้นิ้วชี้และนิ้วหัวแม่มือหยิบของ
  • เล่นจ๊ะเอ๋ โบกมือ บ๊ายบาย
  • เลียนเสียงพูดคุย เรียกชื่อ พ่อ และ แม่ แต่ยังไม่เจาะจง
  • เริ่มทำตามคำสั่งง่ายๆ เช่น โบกมือบายๆ หยุดการกระทำเมื่อได้ยินคำว่า “ไม่”

🔅 11-12 เดือน 🔅

  • ยืนได้เองชั่วครู่หรือตั้งไข่ จูงเดิน
  • ปล่อยของเมื่อขอ
  • เลียนแบบท่าทาง
  • ส่งเสียงที่เป็นเสียงริมฝีปากที่เป็นเสียงสูงเสียงต่ำ เริ่มเรียกชื่อคนใกล้ตัวที่คุ้นเคยเรียก พ่อและแม่ แบบเจาะจงได้
  • เริ่มเข้าใจความหมายของคำพยางค์เดียว ตอบสนองกับคำถามง่ายๆ เช่น แม่อยู่ไหน ลูกบอลอยู่ไหน แล้วมองไปตามทิศทางที่ของอยู่

🔅 13-15 เดือน 🔅

  • เดินได้เอง
  • หยิบจับดินสอขีดเขียน
  • ใช้ท่าทางหรือชี้บอกความต้องการ เริ่มชี้หรือทำท่าทางแสดงสิ่งที่ตนเองสนใจ
  • พูดคำที่มีความหมายได้ 1-3 คำ ซึ่งเป็นคำที่เพิมเติมจากคำที่ใช้เรียกคนคุ้นเคยหรือสัตว์เลี้ยงในบ้าน
  • เมื่อบอกให้ไปหยิบของที่เค้าคุ้นเคยจากอีกห้อง เด็กเข้าใจและทำได้ เช่น ลูกบอลอยู่ไหน ไม่เอารองเท้า เป็นต้น

🔅 16-18 เดือน 🔅(1.4-1.6 ขวบ)

  • เกาะราวหรือจูงมือเดินขึ้นบันได นั่งบนเก้าอี้เล็กได้มั่นคง
  • ต่อสิ่งของแนวตั้งได้ 2-3ชิ้น ขีดเส้นยุ่งๆ ไปมา
  • รู้จักปฏิเสธ หยิบอาหารป้อนตัวเองได้
  • พูดคำที่มีความหมายเพื่อแสดงความต้องการได้หลายคำ มีคำพูดรวมโดยเฉลี่ย 10-20 คำ
  • ชี้อวัยวะได้อย่างน้อย 3 ส่วน คือ ตา จมูก ปาก เข้าใจความหมายของคำประมาณ 50 คำ รู้จักชื่อสัตว์ สิ่งของ

🔅 19-24 เดือน 🔅(1.7-2ขวบ)

  • เตะบอล วิ่ง เดินขึ้นบันไดโดยเก้าเท้าตา
  • ต่อสิ่งของแนวตั้งได้ 5-6 ชิ้น เริ่มเปิดหน้าหนังสือได้ทีละหน้า
  • ใช้ช้อนตักอาหารกินได้
  • พูดได้ประมาณ 50 คำ เริ่มพูดคำที่มีความหมายลองคำติดกัน เช่น กินข้าว แม่อุ้ม
  • ชี้ไปยังสิ่งของหรือรูปภาพตามที่บอกได้อย่างหลากหลาย ชี้อวัยวะได้อย่างน้อย 6 ส่วน

🔅 25-30เดือน 🔅(2.1-2.6ขวบ)

  • กระโดดสองเท้า เดินเขย่งเท้า
  • ขีดเส้นตรงในแนวตั้งหรือแนวนอน ขีดเขียนเป็นเส้นวนๆ
  • เล่นเลียนแบบและเล่นสมมติง่ายๆ
  • พูดเป็นวลี 2-3 คำ หรือเป็นประโยคสั้นๆ มีจำนวนคำศัพท์รวมประมาณ 200 คำ
  • ทำตามคำสั่งเป็นขั้นตอนได้ สามารถติดตามฟังเรื่องเล่าสั้นๆ ได้

🔅 31-36เดือน 🔅 (2.7-3ขวบ)

  • ยืนขาเดี่ยวได้ 2-3 วินาที
  • ขี่จักรยานสามล้อได้
  • ขึ้นบันไดเองสลับเท้า ลงบันไดโดยก้าวเท้าตาม
  • ต่อสิ่งของในแนวตั้งได้ 8 ชิ้นหรือมากกว่า
  • เลียนแบบการวาดรูปวงกลม
  • เล่นสมมติที่ซับซ้อน เล่นกับเด็กอื่น
  • รู้จักสีอย่างน้อย 1-2 สี
  • เข้าใจคำกริยาที่แสดงการกระทำ ได้แก่ หมากำลังวิ่ง เด็กกำลังกิน
  • เข้าใจคำคุณศัพท์ ได้แก่ ร้อน เย็น เหนื่อย เข้าใจบุพบทง่ายๆ ได้แก่ บน ใน
  • เริ่มเล่าเรื่องให้คนอื่นฟังได้แต่อาจจะยังไม่เข้าใจทั้งหมด
  • บอกเวลาต้องการขับถ่ายได้
  • บอกชื่อตนเอง เพศ หรืออายุ พอได้

🔅 37-48เดือน 🔅 (3-4ขวบ)

  • กระโดดขาเดียว ลงบันไดสลับเท้า
  • วาดวงกลมตามแบบ วาดเส้นสองเส้นตัดกันตามแบบ(+) ต่อแท่งไม้ 3 ชิ้นเป็นสะพาน
  • เล่นเกมที่มีกติกาง่ายๆ กับคนอื่นได้ รู้จักรอคอย ใส่กางเกง และใส่เสื้อยืดสวมหัวเองได้
  • พูดเล่าเรื่องเป็นประโยคยาวๆ ให้คนอื่นฟังเข้าใจได้ บอกสีได้หลายสี นับของทีละชิ้นได้อย่างถูกต้อง เรียงลำดับของการนับ ประมาณ 5-10ชิ้น
  • เข้าใจประโยคคำถามที่ซับซ้อนมากขึ้น ได้แก่ อย่างไร ทำไม
  • เข้าใจคำสั่ง 3 ขั้นตอน
  • เข้าใจจำนวน “หนึ่ง” และ “หลายๆ” ได้แก่ หยิบของ 1 ชิ้น หรือหลายๆ ชิ้นได้ถูกต้อง
  • เข้าใจคำบุพบท เพิ่มเติม ได้แก่ ด้านหน้า ด้านข้าง ได้

🔅 49-60เดือน 🔅(4-5ขวบ)

  • กระโดดสลับขา กระโดดขาเดียว กระโดดข้ามสิ่งกีดขวางเตี้ยๆ ได้ เดินต่อเท้าเป็นเส้นตรง
  • วาดสีเหลี่ยมตามแบบ วาดรูปคนที่มีอวัยวะ 3 ส่วนหรือมากกว่า เริ่มใช้กรรไกรตัดกระดาษ
  • แต่งตัวและแปรงฟันได้เองแบบไม่ต้องมีคนช่วย
  • เข้าใจคำถาม “เมื่อไหร่” เริ่มเข้าใจซ้าย-ขวา เข้าใจ ขนาดเล็ก-ใหญ่ สั้น-ยาว
  • คำพูดชักชวนฟังเข้าใจทั้งหมด รู้จักถามความหมายของคำหรือวลีที่ไม่เข้าใจ เริ่มรู้จักถามคำถาม “อย่างไร” หรือ “ทำไม” ได้
  • บอกชื่อพยัญชนะไทยที่พบบ่อยบางตัวได้ ได้แก่ ก.ไก่ ง.งู
  • ร้องเพลงสั้นๆ หรือท่องอาขยานที่ได้ยินบ่อยๆ ได้
  • รู้จักจำนวนนับ 1-5 บอกได้อย่างถูกต้อง หลังจากนับว่ามีของรวมทั้งหมด 4 ชิ้นหรือ 5 ชิ้น

🔅 61-72 เดือน 🔅 (5-6ขวบ)

  • เดินบนส้นเท้าเดินต่อเท้าถอยหลัง รับลูกบอลโดยใช้สองมือ กระโดดไกล 120 ซม.
  • วาดรูปสามเหลี่ยม วาดรูปคนที่มีอวัยวะ 6 ส่วนหรือมากกว่า เลียนแบบการเขียนพยัญชนะง่ายๆ บางตัว
  • แต่งตัวและเตรียมอาหารง่ายๆ ได้เอง ไม่ต้องมีใครมาช่วย
  • อธิบายความหมายขิงคำในชีวิตประจำวันได้ ได้แก่ ลูกบอล บ้าน
  • บอกความแตกต่างของสิ่งของสองสิ่งได้
  • รู้จักจำนวนนับ 1-10 บอกจำนวนนับรวมทั้งหมดได้อย่างถูกต้อง
  • บอกชื่อของตัวพยัญชนะไทยส่วนใหญ่ได้ถูกต้อง แม้ไม่มีรูปภาพประกอบ ได้แก่ บอกว่า “ก” ชื่อ ก.ไก่
  • เข้าใจเรื่องขำขันของเด็กๆ
  • เข้าใจลำดับเหตุการณ์ ได้แก่ เรื่องในอดีต ปัจจุบัน เข้าใจตัวพยัญชนะไทยแต่ละตัวมีเสียง ได้แก่ ตัว ก มีเสียง กอ (หรือเกอะ) ตัว ท และ ธ มีเสียงเดียวกัน คือ ทอ หรือเทอะ
  • เข้าใจสัญลักษณ์ตัวเลขว่ามีคำเป็นจำนวนต่างๆ ใน ช่วง 1-10

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *